subcision หลุมสิว คืออะไร? ทำแล้วดีอย่างไร

Last updated: 28 มิ.ย. 2566  |  3280 จำนวนผู้เข้าชม  | 

subcision หลุมสิว คืออะไร? ทำแล้วดีอย่างไร

Subcision คืออะไร?

Subcision คือหัตถการแพทย์ที่ใช้เข็มหรือเครื่องมือพิเศษในการตัดเลาะพังผืดใต้ผิวหนังให้ขาดออกจากกัน ถือเป็นหนึ่งในหัตถการหลักที่หมอใช้เป็นประจำเกือบทุกเคส และถือเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับกลุ่มแผลเป็นหลุมสิวประเภท rolling, tethered, anchored และ bound down acne scars


โดยพื้นฐานแล้ว หลุมสิวกลุ่มนี้จะมีพังผืดยึดติดกับโครงสร้างชั้นลึกลงไปใต้ผิวหนัง เช่น ชั้นเนื้อเยื่อไขมัน หรือแม้แต่ที่พื้นผิวของชั้นกล้ามเนื้อก็ตาม เนื่องจากเมื่อเกิดปฏิกิริยาการอักเสบของสิวแล้วกินพื้นที่บริเวณกว้างและลึกลงไปมากพอ ที่จะไปกระทบกับโครงสร้างชั้นใต้ผิวหนังต่อเป็นทอดๆ

หลังจากนั้นเมื่อมีกระบวนการซ่อมแซมบาดแผลเกิดขึ้น ก็จะมีการผลิตเนื้อเยื่อพังผืดตามมาจำนวนมากอย่างควบคุมไม่ได้ แทรกลงไปทุกชั้นผิวจนถึงชั้นไขมันหรือชั้นกล้ามเนื้อด้วย ทำให้เกิดแผลเป็นที่ยุบตัวลง กลายเป็นหลุมสิวแบบที่เรียกว่า tethered หรือ anchored acne scar ขึ้นมาได้นั่นเองค่ะ


ในกลุ่มรอยแผลเป็นหลุมสิวประเภทนี้ วิธีที่จะสามารถตัดพังผืดนี้ได้ ต้องเป็นการใช้เครื่องมือหรือเข็มแบบแบบต่างๆเข้าไปตัดในแนวขวางกับพังผืดเท่านั้น การใช้วิธีตัดลงไปในแนวดิ่งด้วยเลเซอร์ หรือ microneedling จะไม่สามารถตัดได้เลย

หลักการของ subcision ในภาพดังนี้

 

 

หลุมสิวประเภทใดบ้างที่สามารถรักษาได้ด้วยการทำ Subcision?


หมอขอท้าวความถึงประเภทของแผลเป็นจากสิวอีกครั้งก่อน ว่ามีหลายรูปแบบ ได้แก่ ice pick scars, boxcar scars, rolling scars, deep atrophic scars, hypertrophic scars, red scars, tethered scars, และ anchored scars.

ethered scars, และ anchored scars เป็นแผลเป็นหลุมสิวแบบที่ถูกดึงลงด้วยพังผืดfibrotic bands ที่ยึดติดกับโครงสร้างเนื้อเยื่อชั้นลึก เช่น ชั้นเนื้อเยื่อไขมัน หรือกับพื้นผิวของกล้ามเนื้อ

หลุมสิวกลุ่มนี้สามารถตรวจได้โดยการให้ผู้ป่วยยิ้มและขยับกล้ามเนื้อแสดงสีหน้า หรือตรวจโดยการดึงผิวหนังให้ตึง(stretch test)แล้วยังคงเห็นรอยยุบตัวของหลุมสิวอยู่ หลุมสิวแบบนี้มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นด้วยการทำ Subcision ตัดพังผืดค่ะ

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า Subcision คือการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับหลุมสิวที่เป็นอยู่
การที่แพทย์สามารถระบุประเภทของหลุมสิวได้อย่างถูกต้อง และเลือกวิธีการได้อย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดผลลัพธ์การรักษาได้ดีขึ้นมากที่สุด


การตรวจระบุประเภทหลุมสิวอย่างละเอียดถูกต้อง จำเป็นต้องตรวจร่างกายทางผิวหนังโดยตรง การตรวจส่งภาพถ่ายมาปรึกษามีข้อจำกัดหลายอย่าง สามารถประเมินอย่างคร่าวๆได้ แต่จะไม่ละเอียดชัดเจนเท่ากับการตรวจร่างกายคนไข้โดยตรงค่ะ

การจำแนกประเภทของรอยแผลเป็นจากสิวอย่างแม่นยำ ถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเลือกวิธีรักษาหลุมสิวของคนไข้แต่ละราย

Subcision เป็นหนึ่งในหัตถการที่หมอทำประจำค่ะ วิธีนี้เป็นหนึ่งในการรักษาหลุมสิวที่มีพังผืดยึดเกาะที่ดีที่สุด ส่วนวิธีอื่นๆเช่น เลเซอร์ microneedling หรือการลอกผิวด้วยสารเคมี จะไม่สามารถตัดพังผืดได้เลย

ในหลุมสิวแบบ tethered scars หลังจากทำหัตถการตัดพังผืดให้ขาดได้แล้ว การฉีดสารเติมเต็ม เข้าไปแทนที่เนื้อไขมันที่ยุบตัวฝ่อลง และเพื่อเป็นบัฟเฟอร์กั้นพังผืดไม่ให้ติดกันใหม่ เป็นอีกหัวใจสำคัญของการรักษาหลุมสิวระดับรุนแรงแบบนี้

วิธีการทำ Subcision เป็นอย่างไร?
เมื่อหมอระบุประเภทของหลุมสิวได้โดยละเอียดถูกต้องแล้ว จะทำการวิเคราะห์ลักษณะและร่างแผนภาพหลุมสิวขึ้นมาให้คนไข้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จากนั้นวางแผนการรักษาร่วมกันกับคนไข้ เพื่อเลือกว่าวิธีรักษาให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด แล้วจึงเริ่มรักษาหลุมสิวได้


การทำหัตถการแพทย์ Subcision นี้ หมอจะเลือกทำในหลุมสิวแบบ tethered, rolling scars, anchored scars และ bound down scars


ขั้นแรก หมอจะทำการฉีดบล็อคยาชาให้ครอบคลุมบริเวณที่จะทำหัตถการนี้ก่อน จากนั้นหมอจะใช้เข็มและเครื่องมือชนิดพิเศษ เพื่อตัดทำลายพังผืดให้ขาดจากกันให้ทั่วถึงในทุกทิศทาง ในแต่ละบริเวณอาจใช้เครื่องมือและชนิดขนาดของเข็มที่แตกต่างกันไป ตามความหนาบางของผิวหนังและพังผืด    โดยทั่วไปการทำหัตถการตัดพังผืด เทคนิคเฉพาะของหมอนี้มักเห็นผลทันทีหลังทำเลยค่ะ

ขั้นตอนต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้พังผืดที่ตัดไปเกิดการยึดเกาะกันใหม่ หมอจะใช้สารเติมเต็มฉีดเข้าไปแทนที่ในโพรงรอยยุบตัวของหลุมสิวนั้น หลักการฉีดสารเติมเต็มนี้เพื่อเป็นบัฟเฟอร์กั้นพังผืด และยังแทนที่การสูญเสียปริมาตรเนื้อเยื่อไขมันที่ยุบตัวลง รวมทั้งยังเกิดกลไกการกระตุ้นคอลลาเจนอีลาสตินใต้ผิวได้อีกด้วย

หลังทำหัตถการ คนไข้สามารถประคบเย็นบริเวณที่ทำการรักษาเพื่อลดอาการบวมช้ำที่อาจเกิดขึ้นได้

 

การทำ Subcision ให้ผลลัพธ์ที่ถาวรหรือไม่?
ใช่ค่ะ! หากแผลเป็นหลุมสิวนั้น มีพังผืดยึดติดกับโครงสร้างชั้นลึกใต้ผิว การตัดพังผืดนี้จะให้เกิดผลในทันทีและถาวร (หากไม่มีการกลับมายึดเกาะกันใหม่ หรือเกิดแผลขึ้นมาใหม่)

ในกรณีของหลุมสิว ที่มีการยุบตัวฝ่อลงของเนื้อเยื่อชั้นไขมันด้วย ซึ่งจำเป็นต้องฉีดสารเติมเต็มเข้าไปแทนที่ เมื่อเวลาผ่านไปสารเติมเต็มนี้จะถูกสลายไปได้ตามกาลเวลา แต่ในขณะเดียวกัน การ Subcisionตัดพังผืดนี้ ร่วมกับอีกคุณสมบัติของสารเติมเต็มที่ช่วยกระตุ้นคอลลาเจนได้ด้วย จะไปกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างเส้นใยคอลลาเจนอิลาสตินขึ้นมาใหม่ ถือเป็นผลที่ได้อย่างถาวร อย่างไรก็ตามคอลลาเจนที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นกับยีนที่กำหนดในแต่ละบุคคลด้วย

 

หลุมสิวจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนหลังทำ Subcision?
การทำ Subcision ผ่าตัดพังผืด ร่วมกับการฉีดสารเติมเต็ม เป็นหัตถการอย่างหนึ่งที่มักจะให้ผลลัพธ์หลังการรักษาที่ชัดเจนและดีขึ้นในทันที อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับแผลเป็นหลุมสิวในแต่ละบุคคล ความรุนแรงของแผลเป็นจากสิว ปริมาณของพังผืด ตำแหน่งของเนื้อเยื่อแผลเป็น และความหนาของผิวหนังคนไข้ด้วย


ในบางกรณี เช่น ในหลุมสิว Rolling scar ที่ปากแผลกว้าง ขอบไม่ชัด มีพังผืดเกาะไม่ลึกและไม่หนามาก หมออาจรักษาให้ดีขึ้นได้ถึง 80-90% ได้ในการทำหัตถการเพียงครั้งเดียว แต่ในกรณีที่หลุมสิวรุนแรงกว่า มีพังผืดที่หนาและแข็งมาก ดึงรั้งกับไขมันกล้ามเนื้อชั้นลึกเยอะ อาจรักษาได้ยากขึ้น แบบนี้อาจต้องรักษา 2-3 ครั้งเพื่อให้ผลดีขึ้น 50-70% ร่วมกับฉีดสารเติมเต็มเข้าไปด้วย

 

ความเสี่ยงของ Subcision คืออะไร?
การทำ Subcision เป็นเทคนิคที่ปลอดภัยมาก มีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน หากทำโดยแพทย์ที่ชำนาญ และใช้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานปลอดเชื้อ

เช่นเดียวกับการทำหัตถการแพทย์ผ่าตัดเล็กอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงของการเกิดรอยบวมช้ำและการติดเชื้อได้เสมอ ภาวะเลือดออกเล็กน้อยและรอยฟกช้ำอาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในเคสที่แผลเป็นหลุมสิวรุนแรง มีพังผืดหนาแน่นซับซ้อนมาก

ในบางกรณี หากทำ Subcision โดยผู้ที่ไม่ชำนาญ วิเคราะห์ลักษณะหลุมสิวไม่ถูกต้องวางแผนการรักษาไม่เหมาะสมตั้งแต่แรก ก็อาจทำให้พังผืดที่จุดสำคัญไม่โดนตัดออก อาจตัดพังผืดได้ไม่ครอบคลุม เกิดแผลเป็นใหม่ขึ้นมาแทนที่และผิวอาจยุบตัวมากกว่าเดิม หรือเกิดเป็นก้อนไตผิวหนังอักเสบขึ้นมาแทน ผลลัพธ์ที่ควรจะดีขึ้นในทันที กลับกลายเป็นแผลที่รุนแรงขึ้นมาแทนที่

 

ข้อควรระวังในการทำหัตถการ?
เพื่อลดอาการเลือดออกหรือรอยช้ำ โปรดหลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น กระเทียม  fish oil(น้ำมันปลา) วิตามินE พริมโรส Gingko(สารสกัดแปะก๊วย) ฯลฯ ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการรักษา เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเลือดออก บวมช้ำได้

ในวันแรกหลังทำหัตถการ แนะนำประคบเย็นเป็นเวลา 10 นาทีทุก ๆ ชั่วโมง เพื่อลดอาการบวมช้ำ  และทานยาแก้ปวดได้ หากมีอาการปวดระบมที่ผิวหน้า

 

สามารถทำ Subcision ได้ทุกสภาพผิวหรือไม่?
ใช่ค่ะ Subcision สามารถทำได้ในทุกสภาพผิว ทั้งในคนผิวขาวและคนผิวคล้ำ (ผิวเอเชีย ผิวเมดิเตอร์เรเนียน และผิวสี) ความเสี่ยงที่จะเกิดรอยดำจากการอักเสบ(PIH)นั้น แทบไม่มีเลย เมื่อเทียบกับการทำเลเซอร์บางประเภท

 

***************** แม้ว่าการทำ Subcision อาจดูเหมือนเป็นหัตถการที่ไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยาก แต่จำเป็นต้องอาศัยทักษะความชำนาญ และความละเอียดของแพทย์ผู้ทำเป็นอย่างมาก เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามในขั้นแรกของการรักษาหลุมสิวทุกประเภท คือการวิเคราะห์ประเภทของลเป็นหลุมสิวให้ถูกต้อง แล้วเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับประเภทของหลุมสิวและสภาพผิวของแต่ละบุคคล ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์การรักษาดีขึ้นได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Powered by MakeWebEasy.com